การส่งออกไทยเดือน ก.ย. อยู่ที่ 20,700 ล้านดอลลาร์ฯ

การส่งออกไทยเดือน ก.ย. อยู่ที่ 20,700 ล้านดอลลาร์ฯ หรือ หดตัว -5.2% YoY (เดือนก่อน +6.7% YoY) เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 19 เดือน การนำเข้าอยู่ที่ 20,213 ล้านดอลลาร์ฯ หรือขยายตัว +9.9% YoY (เดือนก่อน +22.8% YoY) ชะลอลงต่ำสุดในรอบ 12 เดือน ทำให้ดุลการค้าเกินดุล +487 ล้านดอลลาร์ฯ (เดือนก่อน -588 ล้านดอลลาร์ฯ) รวม 9 เดือนการส่งออกมีมูลค่าทั้งสิ้น 189,730 ล้านดอลลาร์ฯ (+8.1% AoA) ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 186,891 ล้านดอลลาร์ (+15.2% AoA) และการค้าทั้ง 9 เดือน เกินดุล 2,839 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ทั้งปีที่ 8.0% การส่งออกอีกสามเดือนที่เหลือจะต้องอยู่ที่อย่างน้อย 21,945 ล้านดอลลาร์ฯต่อเดือน

สำหรับภาพที่การส่งออกหดตัวเป็นครั้งแรกนั้นกระทรวงพาณิชย์ให้เหตุผลว่าเนื่องด้วย 1)การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก , 2) ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า ,และ 3) ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังไม่มีความชัดเจน

ในรายอุตสาหกรรม

1) การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว -0.6% YoY โดยสินค้าส่งออกที่ยัง ขยายตัวได้ดี ได้แก่

  • ข้าว ขยายตัวทั้งปริมาณและราคา ขยายตัวที่ +20.5% YoY (ขยายตัวในตลาดเบนิน แอฟริกาใต้ สหรัฐฯ จีน และฟิลิปปินส์)
  • ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวด้านราคาเป็นหลัก ขยายตัว +21.7% YoY (ขยายตัวใน ตลาดจีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหรัฐฯ)
  • เครื่องดื่ม ขยายตัว +5.4% YoY (ขยายตัวในตลาดเวียดนาม กัมพูชา และฟิลิปปินส์)
  • ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว +7.7% YoY (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ และ ฮ่องกง)

สินค้าเกษตรที่หดตัว ได้แก่

  • ยางพารา หดตัวทั้งด้านปริมาณและราคา ที่ -24.3% YoY (หดตัวใน ตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ แต่ยังขยายตัวสูงในอินเดีย)
  • นำตาลทราย หดตัวที่ -10.6% YoY (หดตัวในตลาด กัมพูชา และเมียนมา แต่ขยายตัวระดับสูงในอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และมาเลเซีย)
    ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2018 กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว +3.4% AoA

2) การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 19 เดือน โดยหดตัว -6.7% YoY โดยสินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดีได้แก่

  • สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัวเกือบทุกตลาดที่ +7.9% YoY (ขยายตัวในตลาดจีน กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น)
  • เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ขยายตัว +4.5% YoY (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง และเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และอินเดีย)
  • เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัว +9.7%YoY (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และสหรัฐฯ)
  • เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ขยายตัว +4.4%YoY (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย)

สินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัว ได้แก่

  • ทองคำ หดตัว -78.7% YoY (หดตัวในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ฮ่องกง แต่ยังขยายตัวในตลาดกัมพูชา และจีน)
  • รถยนต์และส่วนประกอบ หดตัวเกือบทุกตลาดที่ -7.4% YoY (หดตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย แต่ยังขยายตัวในตลาดเวียดนาม และญี่ปุ่น)
  • เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว -32.6%YoY (หดตัวในตลาดญี่ปุ่น ฮ่องกง เม็กซิโก และเนเธอร์แลนด์แต่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ)
  • แผงวงจรไฟฟ้า หดตัว -10.6%YoY (หดตัวในตลาดฮ่องกง จีน และญี่ปุ่น แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐฯ และสิงคโปร์)

ภาพรวม 9 เดือนแรกของปี 2018 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมยังขยายตัว +8.1%YoY

ในรายตลาดส่งออก

การส่งออกไป CLMV ขยายตัว +17.5% YoY แต่หลายตลาดชะลอตัวลงเช่น สหภาพยุโรป (15) อยู่ที่ +3.9% YoY สหรัฐฯ +1.2%YoY และญี่ปุ่น +0.2% YoY ส่วนการส่งออกไปตลาดจีนและเอเชียใต้หดตัว -14.1%YoY และ -3.7%YoY ตามลำดับ

อีกสามเดือนที่เหลือ การส่งออกจะต้องอยู่ที่ 2.19 หมื่นล้านดอลลาร์ฯต่อเดือนเพื่อบรรลุเป้าหมายทั้งปีที่ 8%

October 24, 2018