“ทยอยมา”

ภาพรวมการลงทุนของกองทุน B-IR-FOF และ B-IR-FOFRMF

ณ 30 กันยายน 2563 โดย Fund Management

นับตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ตลาดหุ้นไทย และโลกถูกกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่ทวีความรุนแรงมากตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยจากภาวะโรคระบาดที่ขยายวงกว้าง นักลงทุนมีการเทขายสินทรัพย์ต่างๆออกมา ทั้งในตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และสินทรัพย์ทางเลือกทั่วโลก จนทำให้รัฐบาลในหลายประเทศมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน เพื่อบรรเทาวิกฤต COVID-19 ยกตัวอย่างเช่น Fed มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในการประชุมฉุกเฉินถึง 2 ครั้งในเดือนมีนาคมลงสู่ระดับ 0% – 0.25% ซึ่งเท่ากับช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2551 พร้อมทั้งประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) แบบไม่จำกัดวงเงิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ และ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของประเทศไทยได้ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งเช่นเดียวกัน ครั้งละ 0.25% จาก 1.0% เป็น 0.5% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากการประชุมในเดือนมีนาคม และพฤษภาคม เพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ บรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ภาพรวมการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกประเภทกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ในประเทศไทย นับตั้งแต่ต้นปี 2563 ปรับตัวลดลง 25.8% ซึ่งปรับตัวลดลงมากกว่าเมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ที่ปรับตัวลดลง 20.5% โดยมีสาเหตุหลักมาจากการปรับตัวลดลงของกองทุนในกลุ่ม retail และกลุ่มโรงแรมเป็นหลัก ที่ได้รับผลกระทบทางลบโดยตรงจาก COVID-19 และเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ในระยะสั้นยังคงไม่มีปัจจัยบวกที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ทางกองทุนบัวหลวงมองว่าสถานการณ์ในประเทศจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป นับตั้งแต่เริ่มมีการผ่อนคลาย Lockdown ทำให้ภาคธุรกิจต่างๆเริ่มกลับมาให้บริการ

นไตรมาส 3 ปี 2563 กองทุนในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจาก COVID-19 เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว ยกตัวอย่าง กองทุนที่เป็น Retail เห็นอัตราการเช่า (Occupancy rate) มีการปรับตัวดีขึ้นจากในไตรมาสก่อน จำนวนผู้เข้าใช้บริการกลับมาถึงระดับ 60% เทียบกับจำนวนผู้เข้าใช้บริการในช่วงก่อนเกิด COVID-19 และคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่จะฟื้นตัวกลับมาได้เร็วเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ

ส่วนกองทุนที่เป็น Hotel การฟื้นตัวยังไม่เห็นภาพที่ชัด เนื่องจากยังคงรอการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดประเทศให้มีการเดินทางระหว่างประเทศสำหรับนักท่องเที่ยว จะเป็นจุดที่ทำให้กองทุนในกลุ่มนี้มีภาพการฟื้นตัวที่ดีขึ้น

กองทุนในกลุ่ม Industrial ถึงแม้ว่าในช่วง COVID-19 ระบาด จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย แต่จากการที่รัฐบาลยังคงจำกัดในเรื่องของการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้เกิดอุปสรรคในการเดินทางของนักลงทุนต่างชาติในการเข้ามาลงทุน ทำให้มีการชะลอของการเช่าพื้นที่ใหม่ อย่างไรก็ตามกองทุนในกลุ่มนี้ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงทั้งในแง่ของการเติบโตจากสินทรัพย์เดิม (Organic growth) และการเติบโตจากการลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ (Inorganic growth via acquisition) รวมถึงยังมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นค่าเช่าได้ในอนาคตตามการเติบโตของธุรกิจ E-commerce

กองทุนในกลุ่ม Office จากการที่มี COVID-19 ระบาด ทำให้เกิด New normal ในการทำงาน หลายบริษัทเริ่มปรับตัวให้มีการ Work From Home มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบทางลบต่อ Occupancy rate เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณของผู้เช่าบางรายขอยกเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนด หรือขอปรับลดขนาดพื้นที่เช่า แต่อย่างไรปัจจุบัน Occupancy rate โดยรวมยังอยู่ในระดับสูงมากกว่า 90%

ด้านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) เป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก ยกเว้น BTSGIF ที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจาก COVID-19 แต่หลังจากที่รัฐบาลมีการปลดล็อค Curfew ในเดือนพฤษภาคม ตัวเลขผู้โดยสารรายเดือนที่กองทุนรายงานออกมาเห็นการฟื้นตัวดีขึ้น จนปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารกลับมาประมาณ 70% ของผู้โดยสารในช่วงก่อนเกิด COVID-19

สำหรับ Singapore REIT มีทิศทางการฟื้นตัวเช่นเดียวกับประเทศไทย ปัจจัยบวกของการเติบโตในอนาคตของ Singapore REIT นั้น จะมาจากทั้งการซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมและกระจายความเสี่ยงในหลาย Sector มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม Data center จะพบว่ามีการเติบโตที่สูงตามการปรับเปลี่ยน Technology และความต้องการใช้และเก็บข้อมูลของบริษัทต่างๆ ที่มากขึ้น

ถึงแม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะอยู่ในช่วงฟื้นตัว และการกลับมาจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) จะยังต้องใช้เวลากว่าจะกลับมาจ่ายเท่ากับตอนก่อนเกิด COVID-19 แต่เมื่อมองการลงทุนระยะยาว การมีหลักทรัพย์ประเภทนี้ใน Portfolio จะเป็นการ Diversified พร้อมทั้งยังช่วยลดความผันผวนในช่วงที่ตลาดมีความไม่แน่นอน อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ การเน้นเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดี ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจไม่มาก สินทรัพย์ทางเลือกประเภทกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ยังมีความน่าสนใจเนื่องจากยังให้ Yield ที่มีความน่าสนใจเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ทั้งนี้ จากรายงานปัจจุบัน Vaccine COVID-19 ที่ทดลองในหลายๆ ประเทศ ได้เข้าสู่การทดลองเฟส 3 และมีถึง 10 ราย โดยคาดว่าจะสามารถทยอยผลิตออกมาได้ตั้งแต่ช่วงปลายปี ส่งผลให้เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการเติบโตของผลประกอบการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ตั้งแต่ปีหน้า และคาดว่าผลประกอบการจะกลับมาสู่ระดับปกติเท่ากับช่วงก่อน COVID-19 ในปี 2565 เป็นต้นไป

ข้อมูลในบทความนี้เป็นข้อมูลที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งนักลงทุนสามารถเข้าถึงได้โดยทั่วไป และเป็นข้อมูลที่เชื่อว่าน่าจะเชื่อถือได้ แต่ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (“บริษัท”) มิได้ยืนยันหรือรับรองถึงความถูกต้อง หรือสมบูรณ์ของข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด ความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นเพียงการนำเสนอในมุมมองของบริษัท และเป็นความคิดเห็น ณ วันที่ปรากฏในบทความเท่านั้น ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ภายหลังวันดังกล่าว โดยบริษัทไม่จำเป็นต้องแจ้งสาธารณชน หรือผู้ลงทุนทราบ บทความฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้น บริษัทไม่รับผิดชอบต่อการนำข้อมูลหรือความคิดเห็นใดๆไปใช้ในทุกกรณี ดังนั้นผู้ลงทุนควรใช้ดุลพินิจในการพิจารณา เนื่องจากการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน

October 16, 2020