กลุ่มเทคโนโลยีการแพทย์…ศักยภาพที่มาแล้ววันนี้


(เลือกที่รูปเพื่ออ่านฉบับเต็ม)
Wellington Global Health Care Equity Portfolio ซึ่งเป็นกองทุนหลักของกองทุน BCARE และ BCARERMF เปิดแนวทางปรับการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรก 2020 เพื่อรับการลงทุนในช่วงถัดไปอย่างไร ใน BF Product Update ของกองทุนบัวหลวง

กองทุนหลักปรับพอร์ตและมีมุมมองในระยะต่อไปอย่างไร

กองทุนหลักหันมาลดความเสี่ยงด้วยการลดฐานะลงทุนในบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ ที่มีภาระหนี้สินสูง และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้านการให้บริการคลีนิครักษาผู้ป่วย เนื่องจากรายได้ของกิจการเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และยังจับตามองใกล้ชิดกับหุ้นบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ที่ถือครองบางตัว เนื่องจากบริษัทดังกล่าวใช้ส่วนประกอบยาที่มาจากจีน ซึ่งมีความเสี่ยงที่ธุรกิจจะได้รับผลกระทบ ด้วยเหตุดังกล่าว กองทุนหลักจึงลดฐานะลงทุนบริษัทวิจัยยาสัญชาติจีนในกลุ่ม Chinese-based Contract Research Organizations (CROs) และหลีกเลี่ยงบริษัทที่จะได้รับผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานการผลิตยาที่พึ่งพิงสารออกฤทธิ์จากจีนและอินเดีย แต่ก็ได้เห็นโอกาสที่เกิดขึ้นในกลุ่มเทคโนโลยีทางการแพทย์จึงได้เพิ่มฐานะลงทุนในบริษัทซึ่งเป็นผู้นำด้านอุปกรณ์ทดสอบ การติดเชื้อ เครื่องมือการตรวจคัดกรองผู้ป่วย

ช่วงสิ้นไตรมาสแรกเดือน มี.ค. กองทุนหลักมีฐานะลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในบริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์ บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ขนาดกลาง มีฐานะลงทุนส่วนน้อยในบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ขนาดเล็ก บริษัทผู้ให้บริการทางการแพทย์ ในแง่ฐานะลงทุนรายประเทศ มีฐานะลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ยุโรป ตะวันออกกลาง มีฐานะลงทุนส่วนน้อยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

กราฟ: (สีน้ำเงินเข้ม -> กองทุนหลัก) (สีฟ้าอ่อน -> เกณฑ์มาตรฐาน MSCI World Healthcare Net) (ที่มา: Wellington Management, as of March 2020)

 

แม้ในระยะสั้นกองทุนหลักมีมุมมองเชิงบวกแบบระมัดระวัง (Cautiously Optimistic) ต่อหุ้นเฮลธ์แคร์สหรัฐฯ เนื่องจากยังมีประเด็นการเมืองและการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯเป็นปัจจัยรบกวนอยู่ แต่อย่างที่ได้เคยเรียนไว้เสมอมาว่า การปฏิรูปราคายาสหรัฐฯหรือโอกาสที่โครงสร้างเฮลธ์แคร์ของสหรัฐฯจะเปลี่ยนจากเดิมสู่ระบบ Universal or government run healthcare system หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 2020 นี้ เป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากเป็นการใช้งบประมาณประเทศที่สูงเกินจะแบกจะรับไหว นอกจากนี้ ในอดีคเคยมีเหตุการณ์ที่เศรษฐกิจเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงมหภาค อาทิ Subprime Crisis ในปี ค.ศ. 2008, European Debt Crisis ในปี ค.ศ. 2011 หุ้นในกลุ่มโกลบอลเฮลธ์แคร์ก็ยังคงให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นในกลุ่มอื่นเสมอมาเนื่องจากเป็นหุ้นปลอดภัย หรือ Defensive Stock ที่ได้รับแรงหนุนเชิงโครงสร้างระยะยาว

กองทุนหลักมีการเพิ่ม/ลดสัดส่วนหุ้นในไตรมาสที่ผ่านมา (ม.ค.- มี.ค.) อย่างไร

เพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน

1. บริษัท Intuitive Surgical (Fund 1.6%)

Sub-sector: Medical Technology
Region: North America
ผู้พัฒนาและผลิตทั้งระบบและตัวหุ่นยนต์ที่ใช้กับการผ่าตัดแบบโรบอติกซึ่งมีข้อดีคือลดแผลเป็น ลดระยะเวลาพักฟื้นให้กับผู้ป่วย
เป็นเวลา 20 ปีมาแล้วที่ Intuitive Surgical ผู้ผลิต “หุ่นยนต์ผ่าตัด da Vinci” ครองตลาด เป็นเวลา 20 ปี หุ่นยนต์ผ่าตัด da Vinci ครองตลาด ราคาหุ่น da Vinci อยู่ที่ประมาณตัวละ 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แถมยังขายชิ้นส่วนสำหรับเปลี่ยนได้อีกประมาณ 1,900 เหรียญต่อการผ่าตัดหนึ่งครั้ง
กองทุนหลักเพิ่มสัดส่วนการลงทุนหลังสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้หน่วยงานวิจัย Zacks Investment Research คาดการณ์รายได้และกำไรสุทธิบริษัทเติบโตลดลงในไตรมาสถัดไป แม้รายได้ในไตรมาสแรกระหว่างเดือน ม.ค.-มี.ค. เติบโต 13% ที่ระดับ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่กำไรสุทธิต่อหุ้นเพิ่มขึ้น 3% เป็น 2.69 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อหุ้น บริษัทกำลังเผชิญกับการเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ที่จะเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดการผ่าตัดด้วยหหุ่นยนต์อย่างบริษัท Johnson & Johnson บริษัท Medtronic บริษัท Stryker กระนั้นก็ดี บริษัทยังคงครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งอยู่ รายได้รับของบริษัทจากระบบปฏิบัติการที่ใช้ในการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์คิดเป็นสัดส่วน 56% ของรายได้เพิ่มขึ้น 10% ในไตรมาสแรก เทียบกับหลายปีที่ผ่านมาซึ่งเพิ่มขึ้นระดับ 15-20%

2. Edwards Lifesciences (Fund 2.6%)
Sub-sector: Medical Technology
Region: North America

บริษัท ด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเออร์ไวน์รัฐแคลิฟอร์เนียผู้เชี่ยวชาญด้านลิ้นหัวใจเทียมและการตรวจสอบการไหลเวียนโลหิต เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดสำหรับลิ้นหัวใจแบบไม่ผ่าตัดที่มีอัตราเสี่ยงของการผ่าตัดน้อยกว่า มีอัตราการมีชีวิตที่ยืนยาวกว่า เพราะไม่ต้องทานยาละลายเลือดตลอดชีวิต บริษัทประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกระหว่างเดือน ม.ค.- มี.ค. เพิ่มขึ้น 14% เท่ากับ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รายได้จากการเปลี่ยนลิ้นหัวใจแบบไม่ต้องผ่าตัด หรือ TAVR: Trans catheter Aortic Valve Replacement เพิ่มขึ้น 24% กำไรสุทธิต่อหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 1.51 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อหุ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายของไตรมาสแรก บริษัทออกมาประมาณการณ์ว่ารายได้จะลดลงอย่างมากจากสถานการณ์ระบาด COVID-19 กองทุนหลักอาศัยจังหวะดังกล่าวลงทุนเพิ่มเพราะบริษัทเป็นผู้นำตลาดด้านการเปลี่ยนลิ้นหัวใจแบบไม่ต้องผ่าตัดเปิดทรวงอก
รูปแสดง: ลิ้นหัวใจของบริษัท Edwards Lifesciences ที่เรียกว่า SAPIEN 3 transcatheter heart valve

ที่มา: https://www.edwards.com/therapies/transcatheter-aortic-valve-replacement-tavr

3. บริษัท PPD หรือ Pharmaceutical Product Development (Fund 0.8%)
Sub-sector: Biotechnology
Region: North America

จุดเด่น: รายได้มาจากประสิทธิภาพของกระบวนการทดลอง/ทดสอบที่ได้รับความน่าเชื่อถือ จึงได้ประโยชน์หากบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์นำยาวัคซีน COVID-19 มาทดสอบกับมนุษย์ โดยว่าจ้างให้บริษัทช่วยดำเนินการ
โดยบริษัทเป็น Contract Research Organization ในหลายโรคทั้งโรคหัวใจ โรคผิวหนัง โรคกระเพาะ โรครูมาตอย โรคติดเชื้อ โรคมะเร็ง โรคโลหิตและเม็ดเลือด โรคระบบทางเดินปัสสาวะ รวมถึงการพัฒนาวัคซีนก่อนที่จะนำมาใช้กับมนุษย์รวมถึงกระบวนการทดสอบวัคซีน
ที่มา: https://www.ppd.com/therapeutic-expertise/vaccine-development/

ลดสัดส่วนการลงทุนใน

1. บริษัท Forty Seven
Sub-sector: Biotechnology (Gene Therapy, Immuno-Oncology)
Region: North America

จุดเด่น: บริษัทพัฒนาตัวยาเทอราพีใช้รักษาผู้ป่วยไมลอยด์ลูคีเมีย (Myeloid Leukemia) เป็นผลสำเร็จด้วยอัตรา 92% ของกลุ่มผู้ป่วยอาสาสมัครหายจากโรคด้วยการทดลองเพียงครั้งเดียว ทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นกว่า 500% เท่านั้นยังไม่พอ ราคาหุ้นพุ่งขึ้นในเดือน มี.ค.จาก 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อหุ้น เป็น 95.5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อหุ้น แม้ตลาดหุ้นจะได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ COVID-19 ก็ตาม เพราะบริษัทยายักษ์ใหญ่ Gilead Sciences ประกาศซื้อกิจการมูลค่า 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กองทุนหลักจึงขายทำกำไรจากดีลซื้อกิจการที่ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย

2. บริษัท Dermira
Sub-sector: Drug Innovation (Dermathology)
Region: North America

บริษัทพัฒนาตัวยารักษาโรค เหงื่อออกมาก (Hyperhidrosis) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายขับเหงื่อออกทางผิวหนังมากผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากความบกพร่องของระบบประสาท ระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ การเจ็บป่วยต่าง ๆ หรืออาจเป็นผลข้างเคียงของยาบางชนิด แต่ไม่ได้เกิดจากภาวะที่ทำให้เหงื่อออกมากโดยทั่วไปอย่างอากาศร้อน การออกกำลังกาย ภาวะตื่นเต้นหรือเครียด ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องใช้ยา
กองทุนหลักขายในช่วงราคาหุ้นปรับตัวขึ้น หลังบริษัท Eli Lilly เข้าซื้อกิจการบริษัท Dermira มูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อสะสมพอร์ตยาเฟส-3 ของระยะทดลอง

3. บริษัท Teladoc Health
Sub-sector: Medical Technology (Telemedicine)
Region: North America

บริษัท Teladoc ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการ Telemedicine (เทเลเมดิซีน) เจ้าดังที่มีฐานอยู่ที่นิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากต้นปีที่ 82 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อหุ้นเป็น 180 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อหุ้น ในช่วงสิ้นเดือน เม.ย.
เนื่องจากตัวเลขว่ายอดการใช้งานเทเลเมดิซีนทะยานพุ่งสูงขึ้น ถึง 47 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 3 เดือนแรกของปี ค.ศ. 2020 กองทุนหลักใช้จังหวะดังกล่าวลดสัดส่วนการถือครอง โดยนับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ไม่เพียงแต่บริษัท Teladoc ที่ออกมาเปิดเผยตัวเลขผู้ใช้งานเทเลเมดิซีนนี้ ก่อนหน้านั้นผู้ครองตลาดนี้จากประเทศจีนอย่าง Ping An Good Doctor ก็ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ยอดการใช้งานการปรึกษาแพทย์ผ่านระบบของ Ping An นั้น เพิ่มสูงขึ้นถึง 900% จากยอดผู้ใช้งานเดิม และแม้แต่ Telemedicine โดยโรงพยาบาลเอง อย่าง Cleveland Clinic ยังออกมาเปิดเผยว่าระบบต้องรับโหลดจากคนที่กังวลว่าจะติดเชื้อไวรัสและต้องการปรึกษาผ่านทางออนไลน์แทบไม่ทัน

เดิมตัวเลขการเติบโตของผู้ใช้บริการเทเลเมดิซีนทั่วโลกนั้นไม่ได้สูงนัก จากการเก็บข้อมูลของ Statista ในช่วงปี ค.ศ. 2013 (เมื่อ 7 ปีก่อน) มีผู้ใช้งานเพียงสามแสนรายทั่วโลก และสูงขึ้นเป็น 1 ล้านคนในปี 2015 และที่ 7 ล้านคนในปี ค.ศ. 2018 การลดโหลดของฝูงชนที่ไปกองกันที่โรงพยาบาล ย่อมเกิดประโยชน์ในแง่ Supply chain เพราะทำให้แพทย์ไม่ต้องใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้ากากอนามัยและชุดป้องกันตนเอง (Personal Protective Equipment: PPE) ไปกับเคสความเสี่ยงต่ำ ทำให้ลดการขาดแคลนอุปกรณ์เหล่านี้ให้มากที่สุด และสงวนอุปกรณ์ไว้ใช้กับเคสที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น
เทเลเมดิซีนโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา คือ การที่คนไข้สามารถเคลมการปรึกษาแพทย์ผ่านออนไลน์ได้ด้วยประกันสุขภาพของบริษัทประกัน (reimbursement) ทั้งยังสามารถรับยาตามแพทย์สั่งได้ที่ร้านยาอีกด้วย (ต้องบอกว่า เดิมในอเมริกา ผู้ป่วยต้องถือใบสั่งยาไปรับยาที่ร้านยาอยู่แล้ว ไม่ได้รอรับที่โรงพยาบาลเหมือนกับของไทย) ในอเมริกามีเทเลเมดิซีนเจ้าดังอยู่หลายเจ้า เช่น บริษัท Teladoc บริษัท MD live บริษัท Doctor on Demand เป็นต้น ถึงแม้หลายๆ บริษัทยังเข้าไปหาเงินลงทุนและอยู่ในตลาดหุ้นด้วย แต่การร่วมจ่ายโดยบริษัทประกันสุขภาพ ก็เป็นแรงจูงใจอย่างมาก ที่ทำให้คนหันมาใช้บริการเทเลเมดิซีน
(ที่มา: Wellington Management, as of March 2020)

รายชื่อหลักทรัพย์ลงทุน 10 อันดับแรกของกองทุนหลัก Wellington Global Healthcare Equity Fund

1 UnitedHealth Group, Healthcare Equipment and Services USA, 2.9%
2 Medtronic PLC, Healthcare Equipment and Services USA, 2.9%
3 Edwards Lifesciences, Healthcare Equipment and Services USA, 2.6%
4 Bristol-Myers Squibb Pharma, Biotech & Life Sciences USA, 2.6%
5 Astrazeneca PLC Pharma, Biotech & Life Sciences UK, 2.6%
6 Boston Scientific, Healthcare Equipment and Services USA, 2.6%
7 Thermo Fisher Scient Pharma, Biotech & Life Sciences USA, 2.6%
8 Anthem Inc, Healthcare Equipment and Services USA, 2.4%
9 Abbott Laboratories, Healthcare Equipment and Services USA, 2.3%
10 Eisai Co Ltd Pharma, Biotech & Life Sciences Japan, 2.1%

ข้อมูลในบทความนี้เป็นข้อมูลที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งนักลงทุนสามารถเข้าถึงได้โดยทั่วไป และเป็นข้อมูลที่เชื่อว่าน่าจะเชื่อถือได้ แต่ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (“บริษัท”) มิได้ยืนยันหรือรับรองถึงความถูกต้อง หรือสมบูรณ์ของข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด ความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นเพียงการนำเสนอในมุมมองของบริษัท และเป็นความคิดเห็น ณ วันที่ปรากฏในบทความเท่านั้น ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ภายหลังวันดังกล่าว โดยบริษัทไม่จำเป็นต้องแจ้งสาธารณชน หรือผู้ลงทุนทราบ บทความฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้น บริษัทไม่รับผิดชอบต่อการนำข้อมูลหรือความคิดเห็นใดๆไปใช้ในทุกกรณี ดังนั้นผู้ลงทุนควรใช้ดุลพินิจในการพิจารณา เนื่องจากการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน

July 29, 2020