เครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือน ม.ค. มีสัญญาณอ่อนแอลงจากการเบิกจ่ายงบล่าช้า

เครื่องชี้เศรษฐกิจรายเดือน ม.ค. มีสัญญาณอ่อนแอลงจากการเบิกจ่ายงบล่าช้า และการลงทุนเอกชนหดตัว คาดว่าเดือนก.พ. เครื่องชี้ด้านการบริโภคและการท่องเที่ยวจะเริ่มแย่

  • รายจ่ายงบลงทุนภาครัฐ (ไม่รวมเงินโอน) ยังคงหดตัว -35.3 YoY โดยมีสาเหตุหลักจากการบังคับใช้ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ FY2020 ที่ล่าช้า
  • จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัว 2.5% YoY เป็น 3.8 ล้านคน หนุนโดยกลุ่มนักท่องเที่ยวมาเลเซีย รัสเซีย และเอเชียไม่รวมจีนและมาเลเซีย (+20.6%, +11.2% และ +6.8% ตามลำดับ) ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวจีนหดตัว -3.7% จากกรณีที่จีนประกาศสั่งห้ามกรุ๊ปทัวร์ออกนอกประเทศในช่วงปลายเดือน ม.ค. เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
  •   ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเติบโตชะลอลง (+1.2% YoY vs. +1.7% เดือนก่อน) ด้วยผลกระทบจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ และความเชื่อมั่นที่ถดถอย โดยเครื่องชี้การบริโภคสินค้าคงทนและสินค้าไม่คงทน หดตัว -3.0% และ -0.1% ตามลำดับ ในขณะที่การใช้จ่ายภาคบริการขยายตัวชะลอลงเหลือ 1.0% (vs. +3.0% เดือนก่อน)
  • ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากขึ้นที่ -8.1% (vs. -3.6% เดือนก่อน) ตามการชะลอตัวจากอุปสงค์ทั้งภายนอกและภายในประเทศที่กระทบต่อภาคการผลิต (MPI -4.6%) และกิจกรรมภาคการลงทุน โดยเครื่องชี้การลงทุน หดตัวในทั้งด้านการก่อสร้างและด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ เช่น ยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่เพื่อการลงทุน -17.6%การนำเข้าสินค้าทุน -5.1% และยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง -3.3%

ในการประชุมเดือนก.พ. กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาที่ 1.0% และได้กล่าวว่า พร้อมที่จะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม โดยมีประเด็นที่จะติดตามเป็นพิเศษ ทั้งความเสี่ยงจากต่างประเทศ อาทิ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ข้อพิพาททางการค้า ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่นเดียวกับความเสี่ยงในประเทศ  อาทิ  ความล่าช้าของ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ FY2020 และภัยแล้ง หมายความว่าหากทิศทางของเศรษฐกิจเปราะบางกว่านี้ ก็มีสิทธิที่ กนง. จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีกในอนาคต (ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อปัจจุบันอยู่ที่ 1.05% ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1.0-3.0%)  สำหรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2020 นั้น แต่เดิมกองทุนบัวหลวงได้ประมาณการไว้ว่าจะขยายตัวที่ 2.3-2.5% แต่เนื่องด้วยมี Downside Risks ที่เพิ่มขึ้นทั้งจากปัจจัยภายนอก และปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ เราได้ขยับกรอบประมาณการมาอยู่ที่ 1.5-2.1% โดยมีกรณีฐานที่ 1.7%

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทนั้น  เรามองว่าการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสจะส่งผลต่อการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะนำเข้าไปคำนวณในดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยด้วย โดยจะเป็นส่วนหนึ่งในดุลบริการ เราคาดว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคสามารถยังไม่สามารถควบคุมได้ ประกอบกับ การค้าระหว่างประเทศของไทยยังไม่ดีขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปี 2020 นี้น่าจะลดลงมาอยู่ที่ 2.02.5หมื่นล้านดอลลาร์ฯ จาก 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ฯในปี 2018 และจากตัวเลขประมาณการปี 2019 ที่ 3.72 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ จากมุมมองในเชิง Macroeconomics จึงปรับกรอบการเคลื่อนไหวของ USDTHB มาอยู่ที่ 29.5-32 จากประมาณการเดิม (ณ วันที่ 8 ม.ค.)  ที่ 29-31 บาท

คำเตือน ข้อมูลในบทความนี้เป็นข้อมูลที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งนักลงทุนสามารถเข้าถึงได้โดยทั่วไป และเป็นข้อมูลที่เชื่อว่าน่าจะเชื่อถือได้ แต่ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (“บริษัท”) มิได้ยืนยันหรือรับรองถึงความถูกต้อง หรือสมบูรณ์ของข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด ความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นเพียงการนำเสนอในมุมมองของบริษัท และเป็นความคิดเห็น ณ วันที่ปรากฏในบทความเท่านั้น ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ภายหลังวันดังกล่าว โดยบริษัทไม่จำเป็นต้องแจ้งสาธารณชน หรือผู้ลงทุนทราบ บทความฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้น บริษัทไม่รับผิดชอบต่อการนำข้อมูลหรือความคิดเห็นใดๆไปใช้ในทุกกรณี ดังนั้นผู้ลงทุนควรใช้ดุลพินิจในการพิจารณา เนื่องจากการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน

March 3, 2020