BF Economic Research
- เปิดเดือน ม.ค. มีเหตุการณ์ที่เป็นบวกให้กับตลาดได้แก่ การบรรลุข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน หรือที่เรียกว่า Phase-one Deal ตามมาด้วยข้อตกลง Brexit ที่สามารถหาข้อสรุปได้ในที่สุด ซึ่ง อังกฤษมีกำหนดแยกตัวออกจาก EU อย่างเป็นทางการเพื่อเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition period) จนถึงสิ้นปี 2020 ขณะที่ IMF ได้ออกมาแถลงประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2020 ว่าจะฟื้นตัวจากปี 2019 เป็นสัญญาณว่าปี 2020 น่าจะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
- อย่างไรก็ดี ในช่วงกลางเดือน ม.ค. เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่เมืองอู่ฮั่นมลฑลหูเป่ยและยังไม่สามารถที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ ได้สร้างความกังวลต่อนักลงทุนในวงกว้าง โดยผลกระทบจะไปตกกับธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ล่าสุด WHO ได้ออกมาประกาศให้เป็นวาระฉุกเฉินแล้ว
- สำหรับประเด็นที่สำคัญที่เกี่ยวข้องประเทศไทยนั้นมีสองเรื่องหลักๆ คือ 1) ความล่าช้าของการพิจารณางบประมาณคลังประจำปี 2563 และ 2)ไวรัสโคโรนา ทำให้เรามองว่าเศรษฐกิจไทยมี Downside Risk เนื่องด้วยรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็น 12% ของ GDP และหากผลกระทบดังกล่าวส่งผลในวงกว้างต่อเศรษฐกิจไทย ก็อาจจะเป็นผลให้ ธปท. ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในครึ่งปีแรกของปี 2020
- ภายหลังจากที่ทางการสหรัฐฯได้ออกมาเผยว่าจะไม่มีการเจรจาทางการค้ารอบ 2 (Phase-2 Deal) จนกว่าจะเลือกตั้ง ในวันที่ 15 ม.ค. สหรัฐฯและจีนก็ได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสแรกแล้ว โดยประธานาธิบดี ทรัมป์ ได้จัดพิธีลงนามดังกล่าวที่ทำเนียบขาว และได้เชิญกลุ่มนักธุรกิจของสหรัฐฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของจีนและสหรัฐฯเข้าร่วมในพิธีด้วย
จากข้อตกลงการค้าเฟสแรกซึ่งมีจำนวน 86 หน้า โดยสรุปแล้ว;
- สหรัฐฯจะปรับลดภาษีลงครึ่งหนึ่งจากอัตรา 15% ที่เรียกเก็บจากสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 1.2 แสนล้านดอลลาร์ฯ และชะลอการเก็บภาษีเพิ่มเติม
- สหรัฐฯจะยังคงตรึงอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนราว 2 ใน 3 คิดเป็นมูลค่าราว 3.6 แสนล้านดอลลาร์ฯ จนกว่าจะผ่านพ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในเดือนพ.ย. และจะพิจารณาปรับลดอัตราภาษีก็ต่อเมื่อสหรัฐฯและจีนมีการลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสสอง
- จีนจะเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็นจำนวนมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์ฯ ภายในระยะเวลา 2 ปี เพื่อลดตัวเลขการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯต่อจีนซึ่งขาดดุลเป็นจำนวนเงิน 420,000 ล้านดอลลาร์ฯ เมื่อปี 2018 โดยในรายงานอ้างอิงถึงแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเจรจา ซึ่งระบุรายละเอียดของสินค้าที่ทางจีนสัญญาว่าจะเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐฯ ประกอบด้วย สินค้าภาคการผลิตมูลค่า 80,000 ล้านดอลลาร์ฯ, สินด้านด้านพลังงานมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ฯ, สินค้าภาคการเกษตรมูลค่า 32,000 ล้านดอลลาร์ฯ รวมถึงการอุดหนุนภาคการบริการสหรัฐฯเพิ่มอีก 35,000 ล้านดอลลาร์ฯ
- ทั้งนี้ จากการให้ข้อมูลของรัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ ข้อตกลงการค้าเฟสแรก จีนตกลงที่จะออกกฎหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ และให้คำมั่นสัญญาต่อบริษัทสหรัฐฯว่าจะไม่มีการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยีอีกต่อไป ซึ่งถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยี ธุรกิจ และแรงงานอเมริกันขณะเดียวกัน ข้อตกลงการค้าเฟสแรกยังเปิดทางให้สถาบันการเงินสหรัฐฯสามารถเข้าสู่ตลาดของจีน และยุติการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในธุรกิจด้านเวชภัณฑ์
- ด้านรองนายกรัฐมนตรีของจีนแสดงความเห็นว่า ข้อตกลงการค้าและเศรษฐกิจเฟสแรกนี้ เป็นมากกว่าข้อตกลงทางเศรษฐกิจ และนำมาซึ่งสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองทั่วโลก ขณะเดียวกันข้อตกลงการค้าเฟสแรกยังมีนัยสำคัญต่อทั้งเศรษฐกิจและการเมือง นอกจากนี้รองนายกฯจีนได้กล่าวว่า เขามองว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนจะขยายตัวสูงกว่าระดับ 6.0% ในปี 2562 และคาดว่าข้อมูลเศรษฐกิจประจำเดือนม.ค.จะบ่งชี้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง
IMF ปรับประมาณการหั่นคาดการณ์GDPโลกปี2020โต 3.3% ปี 2021 โต 3.4%
IMF ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกสู่ระดับ 3.3% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดการณ์ในเดือนต.ค.ที่ระดับ 3.4% พร้อมทั้งปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2021 สู่ระดับ 3.4% จากเดิมที่ระดับ 3.6%
ในรายประเทศ IMF ได้ปรับ GDPปี 2020 ของสหรัฐฯ ยุโรป และอินเดียลงจากการประมาณการครั้งก่อน โดยได้เหตุผลดังนี้
- สหรัฐฯ GDP มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องในปี 2020-21 ที่ 2.0% และ 1.7% ตามลำดับ (จากปี 2019 ที่ 2.3%) โดยให้เหตุผลว่าแรงหนุนจากการปรับลดภาษีและจากสภาพคล่องทางการเงิน จะค่อยๆลดลง
- ยุโรป ในปี 2020-2021 จะขยายตัวที่ 1.3% และ 1.4% ตามลำดับ (จากปีก่อนที่ 1.2%) โดยมองว่าการส่งออกที่เริ่ม Bottom Out จะช่วยหนุนเศรษฐกิจในกลุ่มยุโรป
ญี่ปุ่น จะขยายตัวที่ 0.7%ในปี 2020 และ 0.5% ในปี 2021 โดย IMF มองว่าแรงหนุนด้านการคลังที่มีส่วนให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวได้ที่ 1.0% ในปี 2019 จะค่อยๆหายไปในปี 2021 - ประเทศจีน จะขยายตัวที่ 6.0% ในปี 2020 และ 5.8% ในปี 2021 ชะลอจากปี 2019 ที่ 6.1% ซึ่งถึงแม้ว่า GDP จะชะลอต่อเนื่อง แต่ IMF ยังมองจีนดีกว่าประมาณการในเดือนต.ค. ที่ได้ประมาณการว่า GDP ปี 2020 จะอยู่ที่ 5.8% ทั้งนี้เนื่องจาก IMF มองว่าการบรรลุข้อตกลงระยะที่ 1 หรือ Phase-one Deal มีส่วนลดผลกระทบทางด้านการค้าของจีน
- อินเดีย จะขยายตัว 5.8% ในปี2020 (จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 7.0%) โดยได้รับผลกระทบจากสภาพคล่องในประเทศที่หดตัวลงอย่างรุนแรง แต่ก็เห็นว่า การผ่อนคลายความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในตลาด ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเพิ่มการใช้จ่าย และภาคธุรกิจเพิ่มการลงทุน เป็นผลให้ GDPในปี 2021 สามารถฟื้นกลับมาได้ที่ 6.5% ซึ่งแม้ว่าอัตราการขยายตัวจะดีขึ้นในปี 2020-2021 แต่เป็นอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ในเดือนตค. ที่ IMF มองว่าปี 2020-2021 จะโต 7.0% และ 7.4% ตามลำดับ
IMF ตั้งสมมติฐานว่า สหรัฐและจีน จะไม่มีความตึงเครียดทางการค้าเพิ่มขึ้น และอังกฤษจะแยกตัวจากสหภาพยุโรป (EU) อย่างราบรื่นในสิ้นเดือนนี้
- ไวรัสโคโรนา (Coronavirus) เป็นชื่อไวรัสตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยตั้งแต่โรคไข้หวัดธรรมดาไปจนถึงโรคที่รุนแรงมาก เช่น โรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) และโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) ก่อนหน้านี้พบเชื้อไวรัสโคโรนาที่ติดต่อในมนุษย์แล้ว 6 สายพันธุ์
- ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Novel Coronavirus 2019) ที่ระบาดอยู่ตอนนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า 2019-nCoV พบการติดเชื้อในมนุษย์ครั้งแรกเมื่อเดือนธ.ค. 2562 และระบาดต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้ นับเป็นสายพันธุ์ที่ 7 ของไวรัสโคโรนาที่ติดต่อในมนุษย์
- ไวรัสโคโรนาบางสายพันธุ์เป็น zoonotic infection คือไวรัสที่ติดเชื้อทั้งในสัตว์และคน ก่อนหน้านี้พบการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาจากสัตว์สู่คน เช่น ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคซาร์ส (SARS) แพร่เชื้อจากชะมดสู่มนุษย์ในประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ. 2545 และไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคเมอร์ส (MERS) แพร่เชื้อจากอูฐสู่มนุษย์ในซาอุดีอาระเบียเมื่อปี พ.ศ. 2555 นอกจากนั้น มีไวรัสโคโรนาอีกหลายตัวที่ระบาดในสัตว์แต่ยังไม่ติดต่อสู่คน
- ไวรัสโคโรนาบางสายพันธุ์ติดต่อจากคนสู่คนหลังจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย อย่างสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคซาร์ส โรคเมอร์ส และสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ระบาดอยู่ตอนนี้
- ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ไม่แพร่กระจายทางอากาศ การเดินสวนกันหรืออยู่ในสถานที่เดียวกันไม่ทำให้ติดเชื้อ แต่การสัมผัสระยะใกล้ การอยู่ใกล้ผู้ที่มีอาการไอ จาม แล้วมีฝอยละอองหรือมีน้ำมูกกระเด็นมาโดนจะทำให้ติดเชื้อได้
- อาการของคนที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาขึ้นอยู่กับไวรัสแต่ละสายพันธุ์ อาการที่พบบ่อยทั่วไป คือ อาการทางระบบหายใจ อย่างมีไข้ ไอ หายใจถี่ และหายใจลำบาก ในเคสที่รุนแรงอาจทำให้เกิดโรคปอดบวม โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ไตวาย และรุนแรงมากถึงขั้นเสียชีวิต
- เนื่องจาก 2019-nCoV เพิ่งพบการระบาดในมนุษย์จึงยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ส่วนการพัฒนาวัคซีนตัวใหม่ก็ต้องใช้เวลาหลายปี
- การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ยังไม่มียาและวิธีการรักษาที่จำเพาะเจาะจง วิธีการรักษาที่ทำอยู่ในตอนนี้ คือ รักษาตามอาการหรือเงื่อนไขทางเทคนิคของผู้ป่วยรายนั้น ๆ ซึ่งการรักษาประคับประคองตามอาการก็ถือว่ามีประสิทธิภาพสูง สามารถรักษาผู้ป่วยหายแล้วจำนวนมาก
- ไวรัสโคโรนาเป็นเชื้อโรคที่กลายพันธุ์ง่าย เพราะมีโครงสร้างไม่ซับซ้อน คือมีสารพันธุกรรมประเภท RNA สายเดียว จึงเปลี่ยนแปลงหรือกลายพันธุ์ง่าย ส่งผลให้รับมือเชื้อยาก เพราะเชื้อโรคจะพัฒนาตัวเองตลอดเวลา
- สำหรับอาการของไวรัสโคโรนานั้น อาการรุนแรงที่สุดที่พบ คือ อาการปอดอักเสบอันนำไปสู่การเสียชีวิต ซึ่งข้อมูลที่มี ณ ตอนนี้ คือ มีอัตราเสียชีวิต 3% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด เทียบกับอัตราการเสียชีวิตจากโรคซาร์ส 10% และอัตราการเสียชีวิตจากโรคเมอร์ส 30% อิงจากข้อมูลนี้ถือว่ารุนแรงน้อยกว่าโรคอื่นที่เกิดจากไวรัสตระกูลเดียวกันที่เคยระบาดมาก่อน
- ในรายงานของ ScienceNews อ้างอิงการให้ข้อมูลของ ดร.แอนโทนี เฟาซี (Dr.Anthony Fauci) ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อ สหรัฐอเมริกา (National Institute of Allergy and Infectious Diseases) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญท่านนี้นำข้อมูลอัตราการเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มาเปรียบเทียบกับซาร์สและเมอร์ส แล้วสรุปว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 นี้รุนแรงน้อยกว่าซาร์สและเมอร์ส
- ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญชาวไทยเอง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ความรุนแรงของโรคแตกต่างกันตามความแข็งแรงของแต่ละคน เด็กอายุน้อยและวัยรุ่นจะมีอาการน้อยกว่าผู้สูงอายุ ผู้ที่เสียชีวิตเกือบทั้งหมดมีอายุมากกว่า 80 ส่วนเด็กหรือวัยกลางคนอาการจะน้อยแทบจะไม่มีผู้เสียชีวิตเลย
- ข้อมูลวันที่ 31 ม.ค. องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศให้การระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในขณะนี้เป็น “ความฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ”
- การแพร่ระบาดของโรค SARS ทำให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อ GDP ในปี 2003 ต่อฮ่องกง จีนแผ่นดินใหญ่ และไต้หวัน มากกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดของโรค SARS ส่วนไทยถูกประเมินว่าได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย (ราว 0.2% ของGDP)
- สัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของจีน (รวมฮ่องกงและไต้หวัน) ในไทย เพิ่มขึ้นราว 2 เท่า นับจากปี 2002 (ปีที่เริ่มพบโรค SARS ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดรุนแรงในปี 2003) ทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยมีความอ่อนไหวมากขึ้นต่อการลดลงของนักท่องเที่ยวจีนหากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 มีความรุนแรงมากขึ้น
- แรงกดดันต่อค่าเงินบาทน่าจะลดลงเนื่องจาก รายได้จากการท่องเที่ยวน่าจะลดลง (ปกติจะมีรายได้ท่องเที่ยวประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ฯต่อเดือน ส่วนรายได้จากการส่งออกจะอยู่ที่ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯต่อเดือน)
- หากสถานการณ์ด้านการค้าและการท่องเที่ยวถูกกระทบจะมีผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับตัวลดลง (อนึ่งคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยปี 2019 น่าจะแตะเกือบ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 7-8% ของ GDP) และน่าจะทำให้แรงกดดันต่อค่าเงินบาทน่าจะลดลงด้วย เรามองว่าค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 29-32
คำเตือน ข้อมูลในบทความนี้เป็นข้อมูลที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งนักลงทุนสามารถเข้าถึงได้โดยทั่วไป และเป็นข้อมูลที่เชื่อว่าน่าจะเชื่อถือได้ แต่ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (“บริษัท”) มิได้ยืนยันหรือรับรองถึงความถูกต้อง หรือสมบูรณ์ของข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด ความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นเพียงการนำเสนอในมุมมองของบริษัท และเป็นความคิดเห็น ณ วันที่ปรากฏในบทความเท่านั้น ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ภายหลังวันดังกล่าว โดยบริษัทไม่จำเป็นต้องแจ้งสาธารณชน หรือผู้ลงทุนทราบ บทความฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้น บริษัทไม่รับผิดชอบต่อการนำข้อมูลหรือความคิดเห็นใดๆไปใช้ในทุกกรณี ดังนั้นผู้ลงทุนควรใช้ดุลพินิจในการพิจารณา เนื่องจากการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน